ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ประกาศกรมสรรพากร
เรื่อง      การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร

---------------------------------------------

                ตามที่ได้มีคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 โดยมีผลใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมิน ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 เป็นต้นไป ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.18/2530 ฯ ลงวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2530 กำหนดให้ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมิน ตั้งแต่วันที่1 กันยายน 2530 เป็นต้นไป นั้น

                บัดนี้ ได้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 175 (พ.ศ.2530) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้เพื่อขยายขอบเขตการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น อันจะมีส่วนขยายฐานภาษีออกไป และสร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้มีเงินได้ด้วยกัน ตลอดจนผ่อนคลายภาระในการชำระภาษีจำนวนมากในตอนสิ้นปี และการหลีกเลี่ยงภาษีอากรได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงจำเป็นต้องแก้ไขคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว โดยกรมสรรพากรได้ออกคำสั่ง ที่ ท.ป.19/2530 ฯ ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2530

                กรมสรรพากรจึงประกาศมาเพื่อทราบทั่วกันว่า สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินบางประเภทดังต่อไปนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2530 เป็นต้นไป ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนี้ คือ

                ข้อ 1 กรณีจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ถ้าผู้จ่ายเป็นธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ได้จ่ายเงินได้ดังกล่าวให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย หักภาษี ณ ที่จ่าย ยังคงให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 เหมือนเดิม แต่ถ้าจ่ายให้กับมูลนิธิ หรือสมาคมที่มิใช่มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเดิมให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 5.0 ได้กำหนดอัตราใหม่เป็นให้หักในอัตราร้อยละ 10.0

                ข้อ 2  กรณีจ่ายเงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (แต่ไม่รวมถึงกิจการร่วมค้า) ถ้าผู้จ่ายเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยกองทุนรวมสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณชิยกรรม หรืออุตสาหกรรม จ่ายเงินได้ดังกล่าวให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทย หรือจ่ายให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้กำหนดอัตราใหม่เป็นให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 แต่ถ้าผู้รับ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้จ่ายไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย  เล่นหุ้น ได้ปันผลไม่ต้องจ่าย...

                ข้อ 3  กรณีจ่ายค่าเช่า หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สินแต่ไม่รวมถึงค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ ถ้าผู้จ่ายเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น จ่ายเงินได้ดังกล่าวให้แก่ผู้รับดังต่อไปนี้ ได้กำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนี้ คือ
                        (1) ผู้รับเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้หักในอัตราร้อยละ 5.0
                        (2) ผู้รับเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ให้หักในอัตราร้อยละ 5.0
                        (3) ผู้รับเป็นมูลนิธิหรือสมาคมที่มิใช่มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้หักภาษีในอัตราร้อยละ 10.0

                ข้อ 4  กรณีจ่ายเงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม เดิมให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 2.0 ได้กำหนดอัตราใหม่เป็นให้หักภาษีในอัตราร้อยละ 3.0

                ข้อ 5  กรณีจ่ายค่าจ้างทำของ ถ้าผู้จ่ายเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ได้กำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 สำหรับการจ่ายเงินได้ดังกล่าวให้แก่ผู้รับดังต่อไปนี้
                        (1) ผู้รับซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะค่าจ้างทำของที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7) คือ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุน ด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญ นอกจากเครื่องมือ หรือค่าจ้างทำของอย่างอื่นที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร
                        (2) ผู้รับซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยแต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคม สำหรับค่าจ้างทำของทุกอย่าง
                        (3) ผู้รับซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย สำหรับค่าจ้างทำของทุกอย่าง
                        ส่วนการจ่ายเงินค่าจ้างทำของให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่มิได้มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย ยังคงให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 5.0 เหมือนเดิมตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.8/2528 ฯ ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2528

                ข้อ 6  กรณีจ่ายรางวัลในการประกวด การแข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน ยังคงให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 5.0 เหมือนเดิม

                ข้อ 7  กรณีจ่ายเงินได้ให้แก่นักแสดงสาธารณะ คือ นักแสดงละคร ภาพยนตร์วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ เดิมให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ได้กำหนดอัตราใหม่เป็นให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0

                ข้อ 8  กรณีจ่ายค่าโฆษณา ยังคงให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 2.0 เหมือนเดิม

                ข้อ 9  กรณีจ่ายค่าซื้อสัตว์น้ำ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตและส่วนต่าง ๆ ของสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะสดหรือแช่เย็น แช่เย็นจนแข็ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อรักษาไว้มิให้เปื่อยเน่าในระหว่างการขนส่ง ถ้าผู้จ่ายเป็นบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเฉพาะกรณีที่ผู้จ่ายเป็นผู้ส่งออก หรือผู้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากสัตว์น้ำ และผู้ผลิตอยู่ในบังคับต้องขออนุญาตตั้งโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานได้กำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0

                ข้อ 10  การจ่ายเงินทุกกรณีดังกล่าว ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องนำส่งภาษีที่ต้องหักด้วยแบบ ภ.ง.ด.3 สำหรับกรณีผู้ถูกหักที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือแบบ ภ.ง.ด.53 สำหรับกรณีที่ผู้หักมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่ว่าการอำเภอหรือเขตท้องที่ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนที่จ่ายไม่ว่าจะได้หักภาษีดังกล่าวไว้แล้วหรือไม่ สำหรับการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับรายหนึ่ง ๆ ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป และเมื่อได้หักภาษีไว้แล้วผู้หักภาษีจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวน 2 ฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกันให้แก่ผู้ถูกหักภาษีด้วย

                ในกรณีมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดติดต่อสอบถามได้ที่กองกฎหมายและระเบียบ หรือฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมสรรพากร สำนักงานสรรพากรเขต สำนักงานสรรพากรเขตพื้นที่ สำนักงานสรรพากรจังหวัด สำนักงานสรรพากรอำเภอหรือเขต แห่งหนึ่งแห่งใดก็ได้

ประกาศ ณ วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2530

บัณฑิต บุณยะปานะ
อธิบดีกรมสรรพากร



ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ ภาษีที่ ใครจ่ายเงิน ต้องหักเงินไว้ 3 % แล้วนำส่งสรรพากร
ตัวอย่างที่มา กรมสรรพากร 
เลขที่หนังสือ
: กค 0706(กม.05)/1022
วันที่
: 8 ธันวาคม 2547
เรื่อง
: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีค่าโฆษณา ค่าห้องพัก ค่าจัดหารถยนต์พร้อมคนขับ ค่าเช่า ค่าจ้างเทพื้นคอนกรีต ค่าซื้อหนังสือพิมพ์ ค่าป่วยการ และเงินเดือน
ประเด็นปัญหา
: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528,มาตรา 40(8), มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร

          1. บริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัทในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งไม่มีสถานประกอบการใน ประเทศไทย โฆษณาสินค้าผ่านเว็บไซต์ของบริษัทในประเทศสิงคโปร์ โดยบริษัทฯ จะนำรูปถ่ายและตัวอย่างสินค้าที่ผลิตส่งมอบให้บริษัทในประเทศสิงคโปร์ เพื่อโฆษณาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักแก่บุคคลที่เข้าไปดูรายการสินค้าในเว็บไซต์ จึงขอทราบว่า หากบริษัทฯ ได้ชำระค่าบริการ (Information Listing In Japan-Thailand Electronic Online Directory) ให้แก่บริษัทในประเทศสิงคโปร์ จะต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย (ภ.ง.ด.54) และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) หรือไม่ อย่างไร
          2. บริษัทฯ จ่ายค่าห้องพักของพนักงานให้แก่บริษัทผู้ให้เช่า โดยหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ต่อมาบริษัทผู้ให้เช่าได้เปลี่ยนกิจการเป็นโรงแรม และ เรียกเก็บเป็นค่าบริการห้องพัก บริษัทฯ สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ได้ หรือไม่
          3. บริษัทฯ ทำสัญญากับบริษัทอื่น ให้จัดหารถยนต์ตู้และรถบัสพร้อมคนขับเพื่อรับ-ส่งพนักงานตามจุดต่าง ๆ และจัดหารถบัสพร้อมคนขับนำมาจอดไว้ที่บริษัทฯ ทั้งวันเพื่อ รับ-ส่งพนักงานผู้มาทำงานล่วงเวลาในวันหยุด และจัดหารถยนต์ตู้พร้อมคนขับเพื่อสำรอง (Stand by) ไว้ใช้ออกไปในสถานที่ต่าง ๆ แล้วแต่กรณี หรือเพื่อพาแขกไปตีกอล์ฟตามจังหวัดใกล้เคียงใน บางครั้ง โดยมีข้อกำหนดแห่งสัญญาให้บริษัทผู้จัดหารถยนต์คำนวณค่าบริการและค่าน้ำมันตามระยะทางพร้อมค่าล่วงเวลา บริษัทฯ ขอทราบว่า
               (1) บริษัทฯ จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการให้บริการจัดหา รถยนต์ตู้และรถบัสพร้อมคนขับ ในอัตราเท่าใด อย่างไร เป็นอย่างไร
               (2) หลักเกณฑ์การพิจารณาเพื่อหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ร้อยละ 3.0 และร้อยละ 1.0 สำหรับค่าเช่า ค่าบริการ และค่าขนส่ง ตามลำดับเป็นอย่างไร
          4. บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด สำหรับการจ่ายเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดา ในกรณีดังต่อไปนี้
               (1) กรณีบริษัทฯ ได้ว่าจ้างให้บุคคลธรรมดาทำการกั้นห้อง หรือเทพื้นคอนกรีต โดยผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระทั้งหมด และจ่ายค่าจ้างแต่ละครั้งเป็นจำนวนไม่เท่ากัน
               (2) กรณีบริษัทฯ ซื้อหนังสือพิมพ์รายวันจากบุคคลธรรมดาทุกวันในราคาปกติ
               (3) กรณีรถยนต์รับส่งพนักงานของบริษัทฯ ไม่เพียงพอในบางวัน บริษัทฯ จะว่าจ้างบุคคลธรรมดาให้จัดหารถยนต์พร้อมคนขับ เพื่อรับส่งพนักงานตามสถานที่ต่าง ๆ ตามที่ ตกลงกัน โดยตกลงจ่ายค่าจ้างเป็นรายเที่ยวเที่ยวละไม่ถึง 1,000 บาท ตามระยะทางใกล้หรือไกลของเส้นทาง ทั้งนี้ บริษัทฯ จะรวบรวมจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนเดือนละครั้ง โดยในบางเดือนมีจำนวนเกินกว่า 1,000 บาท
          5. กรณีบริษัทฯ ได้ซื้อเครื่องจักรจากบริษัทในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิต สินค้าประเภทเดียวกัน แต่ไม่มีสถานประกอบการถาวรในไทย และได้ทำข้อตกลงให้บริษัท ในประเทศมาเลเซีย จัดส่งวิศวกรเครื่องจักร เพื่อให้คำแนะนำวิธีใช้เครื่องจักรให้ราบรื่นและมี ประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า โดยบริษัทในประเทศมาเลเซีย จะจัดส่งวิศวกรจำนวน 4 คน มาให้คำแนะนำเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน หรืออาจจะมากหรือน้อยกว่า แล้วแต่กรณี ในปีภาษี เดียวกัน โดยบริษัทฯ จะรับผิดชอบให้ความสะดวกเกี่ยวกับที่พักและรถรับ-ส่ง พร้อมจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 600 บาท ให้แก่วิศวกรโดยตรง ระหว่างที่พักอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งเงินเดือน ในประเทศมาเลเซีย เงินประกันตามกฎหมาย ค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับ และค่าล่วงเวลา โดยบริษัทฯ จะโอนเงินดังกล่าวให้แก่บริษัทในประเทศมาเลเซีย ตามใบแจ้งหนี้ที่จัดส่งมาเรียกเก็บ ภายหลัง บริษัทฯ ขอทราบในกรณีดังต่อไปนี้
               (1) บริษัทฯ จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากวิศวกรจำนวน 4 คน หรือไม่ หากต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้คำนวณภาษีจากฐานรายได้ใด นำส่งด้วยแบบแสดง รายการใด หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างไร
               (2) บริษัทฯ ในประเทศมาเลเซียต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร
               (3) บริษัทฯ ต้องหักภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร จากฐานค่าใช้จ่ายใดบ้าง
แนววินิจฉัย
          (1) เนื่องจากกรณีดังกล่าวถ้ามีการเปิดเว็บไซต์เพื่อใช้บริการในประเทศไทย ถือว่าเป็นการให้บริการในต่างประเทศ และมีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงิน ค่าบริการให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ บริษัทฯ มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 3 ของคำสั่ง กรมสรรพากร ที่ ป.104/2544ฯ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544 ด้วยแบบ ภ.พ.36 ในอัตราร้อยละ 7.0 
          (2) กรณีตาม 1.2 หากการจ่ายค่าห้องพักนั้นเป็นการจ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ โรงแรม เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2544
          (3) กรณีตาม 1.3 แยกการพิจารณาเป็นรายประเด็นตามข้อเท็จจริงดังนี้
               (1) หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทฯ ทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัทผู้รับจ้าง จัดหารถยนต์พร้อมคนขับโดยมีข้อกำหนดที่แน่นอนในสัญญาเกี่ยวกับสถานที่ เส้นทาง และเวลาการรับ-ส่ง โดยมิได้ส่งมอบการครอบครองรถยนต์ให้แก่บริษัทฯ กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ดังนั้น ค่าจ้างที่บริษัทฯ ได้จ่ายให้แก่บริษัทผู้รับจ้าง จึงถือเป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และหากมิใช่เป็นการให้บริการขนส่งแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นเงื่อนไขของการให้บริการขนส่งสาธารณะ บริษัทฯ ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.104/2544ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2544
               (2) หากเป็นกรณีบริษัทผู้จัดหารถยนต์พร้อมคนขับได้ส่งมอบการ ครอบครองรถยนต์ให้แก่บริษัทฯ ไว้ประจำ ณ สถานประกอบการ และได้มีข้อกำหนดที่แน่นอนแห่งสัญญา ให้บริษัทฯ เป็นผู้กำหนดเส้นทางและมีสิทธิเรียกใช้รถยนต์นอกเวลาทำงาน กรณีดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้เช่าทรัพย์สินตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินค่าเช่าอันถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528
               (3) หากการให้บริการรับ-ส่งพนักงานฯ หรือให้บริการนำแขกของบริษัทฯ ออกไปตีกอล์ฟตามจังหวัดใกล้เคียง และได้มีการให้บริการนอกเหนือไปจากการรับขน เช่น การนำแขกเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ โดยบริษัทฯ ผู้รับจ้างจะอำนวยความสะดวกเพื่อการเที่ยวชมทุกประการ เป็นต้น กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการรับจ้างทำของ บริษัทฯ ผู้จ่ายค่าบริการฯ อันถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528
          (4) กรณีตาม 1.4 แยกการพิจารณาเป็นรายประเด็นตามข้อเท็จจริง ดังนี้
               (1) กรณีบริษัทฯ ได้ว่าจ้างให้บุคคลธรรมดาทำการกั้นห้อง หรือเทพื้นคอนกรีต หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า
                    (ก) ผู้รับจ้างได้ใช้แรงงานของตนเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่มีการจัดตั้ง เป็นสำนักงานที่มีเครื่องมือ เครื่องใช้ ไม่มีการจ้างพนักงาน ลูกจ้าง กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็น เงินได้เนื่องจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
                    (ข) ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น สี ปูน อิฐ และวัสดุต่าง ๆ ทั้งหมด เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับเหมาตามมาตรา 40(7) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตาม ข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528
                    (ค) ผู้รับจ้างได้จัดตั้งเป็นสำนักงานและได้ลงทุนด้วยการจัดหา อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และมีค่าใช้จ่ายประจำของสำนักงาน ตลอดจนค่าจ้างพนักงานหรือ ลูกจ้าง กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากการประกอบธุรกิจหรือพาณิชย์ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา ร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 (เทียบเคียงหนังสือที่ กค 0802/4080 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2533)
               2. กรณีบริษัทฯ ซื้อหนังสือพิมพ์รายวันจากบุคคลธรรมดาทุกวันในราคาปกติ
                    (ก) หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคคลธรรมดาซื้อหนังสือพิมพ์มาเพื่อ จำหน่ายให้บริษัทฯ เงินได้จากการขายหนังสือพิมพ์ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด
                    (ข) หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทฯ ว่าจ้างให้บุคคลธรรมดารับ หนังสือพิมพ์มาส่งให้แก่บริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้จ่ายค่าหนังสือพิมพ์ให้แก่ผู้ขายโดยตรง และจ่ายค่ารับ-ส่งหนังสือพิมพ์ให้แก่บุคคลธรรมดาต่างหาก ค่ารับส่งหนังสือพิมพ์เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
               (3) กรณีรถยนต์รับส่งพนักงานไม่เพียงพอ บริษัทฯ จะว่าจ้างให้บุคคลธรรมดาจัดหารถยนต์พร้อมคนขับเพื่อรับส่งพนักงาน นั้น หากเป็นการให้บริการขนส่งจากสถานที่แห่งหนึ่งไปยังสถานที่อีกแห่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการให้บริการอย่างอื่นและไม่มีการ ส่งมอบการครอบครองรถยนต์ให้แก่บริษัทฯ กรณีดังกล่าวถือเป็นการจ่ายค่าขนส่งที่มิใช่เป็นการ ขนส่งสาธารณะ อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร หาก บริษัทฯ จ่ายเงินในแต่ละครั้งตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป บริษัทฯ จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายใน อัตราร้อยละ 1.0 ตามข้อ 12/4 แห่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2544
          (5) กรณีตาม 1.5 แยกการพิจารณาเป็นรายประเด็นตามข้อเท็จจริง ดังนี้
               (1) วิศวกรเครื่องจักรซึ่งเป็นลูกจ้างบริษัทมาเลเซียมีหน้าที่ต้องนำเงินได้และ ผลประโยชน์ที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย มารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากเงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นบริการส่วนบุคคลที่ได้ให้บริการในประเทศไทย เงินได้และ ผลประโยชน์ดังกล่าว จึงสามารถเก็บภาษีได้ในประเทศไทยตามข้อ 14 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ แต่วิศวกรดังกล่าว อาจได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในประเทศไทย หากเข้าเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
                    (ก) วิศวกรดังกล่าวเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลาย ระยะเวลาซึ่งรวมกันไม่เกินกว่า 183 วันในปีภาษีนั้น และ
                    (ข) การเข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้น เป็นการทำงานในนามบริษัทมาเลเซีย และ
                    (ค) เงินเดือน ค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ มิได้หักจากกำไรที่ต้องเสีย
               (2) เนื่องจากเงินได้จากการรับจ้างให้คำแนะนำ เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ ดังนั้น หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทในประเทศมาเลเซียส่งวิศวกรเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย มีระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือน ถือว่าบริษัทในประเทศมาเลเซีย มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามข้อ 5 แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ บริษัทมาเลเซียจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาดังกล่าว โดยคำนวณจากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้
: 68/33267

เงื่อนไข: เมื่อมีการจ่ายค่าบริการจะต้องหัก ณ ที่จ่ายทุกครั้ง
อัตราภาษี:
ชนิดเงินได้
อัตราภาษี
เงินเดือนพนักงาน
ตามอัตราก้าวหน้า
ค่านายหน้า
 3%
ค่าบริการทั่วไป
3%
ค่าเช่า
5%
ค่าขนส่ง ระบุชัดเจนว่า รับจากตรงนี้ไปส่งตรงนี้...
1%
(ถ้าเช่ารถพร้อมคนขับ หัก 5 %)
คนต่างชาติ
15% (ต้องดูอนุสัญญาภาษีซ้อน)

- หักภาษี ณ ที่จ่าย 2% สำหรับผู้ที่ได้รับเงินจากค่าโฆษณา

- หักภาษี ณ ที่จ่าย 5% สำหรับผู้ที่ได้รับเงินจากค่าบริการ, รับจ้างทำของ, รางวัล, ส่วนลด, รับจ้างทำงานให้, ค่าสิทธิ, วิชาชีพอิสระ (อื่นๆ)
 

การยื่นแบบ:
  • ภงด. 1 – หักภาษี ณ ที่จ่ายเงินเดือนพนักงานประจำของบริษัท
  • ภงด. 3 – หักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีผู้รับเงิน เป็นบุคคลธรรมดา  
  • ภงด. 53 - หักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีผู้รับเงิน เป็นนิติบุคคล
  • ภงด. 54 - หักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีผู้รับเงิน เป็นคนต่างชาติ
ยื่นภายใน 7 วันนับจากวันสิ้นเดือน   ทุกวันที่ 7 ของเดือนถัดไป....

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ฟอร์มใบลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท

ใบลาออกจากการเป็นกรรมการ ของ บริษัท  ยิ่งค้ายิ่งรวย ช่วยไม่ได้ (ประเทศไทย) จำกัด        เขียนที่    บริษัท  ยิ่งค้ายิ่งรวย ช่วยไม่ได้   (ประเทศไทย) วันที่  5  เดือน มีนาคม พ.ศ.2555 เรื่อง       ขอลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท เรียน      กรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้น  บริษัท     ยิ่งค้ายิ่งรวย ช่วยไม่ได้   (ประเทศไทย) จำกัด                 ข้าพเจ้า  นายอ่อนระทวย  ไข่ไม่ย้วย    ตำแหน่งกรรมการบริษัท    ยิ่งค้ายิ่งรวย   ช่วยไม่ได้  (ประเทศไทย) จำกัด  มีความประสงค์ขอลาออกจากการเป็นกรรมการ  ของบริษัท ฯ  เนื่องด้วยเหตุผลไปประกอบกิจการอื่น จึงขอสิ้นสุดการทำงานตั้งแต่ วันที่ 5 เดือน  มีนาคม พ.ศ. 2555                 จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ                                                                    ขอแสดงความนับถือ                                                           ……………………………………..                                                                    (นายอ่อนระทวย  ไข่ไม่ย้วย  )                                                                    

สัญญาว่าจ้างในการจัดทำบัญชี

สัญญาว่าจ้างในการจัดทำบัญชี                                                                                                                        ทำที่  หจก.         วันที่ 7 มกราคม 2557                                 สัญญานี้ทำขึ้นเมื่อวันที่   7   มกราคม 2557   ระหว่าง  นายรับทำบัญชี พร้อมปิดงบ    ตั้งอยู่ที่ xxx   หมู่ที่ xx ต.xxx อ.xxx จ.xxx  ซึ่งต่อไปในสัญญานี้จะเรียกว่า   “ ผู้ให้บริการด้านบัญชี ”      ฝ่ายหนึ่ง                                     กับ   บริษัท/หจก/ร้าน   อยู่บ้านเลขที่  xx   ต.xxx อ.xxx จ.xxx    ซึ่งต่อไปในสัญญานี้จะเรียกว่า   “ ผู้ว่าจ้าง ”     อีกฝ่ายหนึ่ง                                 ทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญากันดังมีข้อความต่อไปนี้  มีทั้งหมด 7 ข้อ    ข้อ 1.     ขอบเขตของงาน  (ให้อ้างอิงจาก ใบเสนอราคา xxx QT57-01-001) 1.1             บันทึกบัญชีประจำเดือน รายงานทางการเงินประจำเดือน  (เอกสารไม่เกิน 700-1,000 บิลต่อเดือน (เอกสารการลงบันทึกบัญชีหากมีปริมาณมาก จะเพิ่มราคาตามสัดส่วน 1.2             จัดทำแบบรายการเสียภาษีประจำเดือน คือ

ใบสำคัญรับชำระเงินค่าหุ้น

ใบสำคัญรับชำระเงินค่าหุ้น/เงินลงหุ้น ของ บริษัท xxxxxxxxxxxxxxx จำกัด วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553                    บริษัท ปปปปปปปปปปปปป จำกัดได้รับชำระเงินค่าหุ้น/เงินลงหุ้น เป็นเงิน สี่แสนบาทถ้วน (400,000) จาก ปปปปปปปปปปปปป เพื่อเป็นค่าหุ้น จำนวน สี่พัน (4,000) หุ้น จากการจัดตั้ง บริษัท ปปปปปปปปปปปปปปป จำกัด   โดยชำระเป็นเงินสด สี่แสนบาทถ้วน (400,000) หรือเช็คธนาคาร - สาขา - เช็คเลขที่ - ลงวันที่ - ไว้เรียบร้อยแล้ว ลงชื่อ....................................................ผู้รับเงิน (ปปปปปปปปปปปป) กรรมการ / หุ้นส่วนผู้จัดการ ข้อมูลนี้อยู่ในส่วน การ รับจะทะเบียนบริษัท